ระดับน้ำตาลสะสมเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลสะสม คือ ระดับน้ำตาลเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือน สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน และติดตามการควบคุมโรคเบาหวานได้
การตรวจระดับน้ำตาลสะสมคืออะไร
การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) หรือ ฮีโมโกลบิน เอวันซี (Hemoglobin A1C: HbA1C) คือการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือน เป็นวิธีการตรวจหลักในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน และเครื่องมือในงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
หลักการตรวจค่าระดับน้ำตาลสะสม
ค่าระดับน้ำตาลสะสม เป็นค่าที่บ่งบอกถึงน้ำตาลกลูโคสที่จับอยู่กับฮีโมโกลบิน
ฮีโมโกลบิน คือโปรตีนที่อยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีการสร้างและการตายคงที่ ปกติจะมีอายุ 3 เดือน ดังนั้น ค่าระดับน้ำตาลสะสม จึงสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณน้ำตาลกลูโคสเฉลี่ยในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา
ประเภทการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของเบาหวาน
การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับเบาหวานมี 2 ประเภท
- การตรวจน้ำตาลสะสมเฉลี่ยในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา เรียกว่า HbA1c (Hemoglobin A1c)
ต้องตรวจในโรงพยาบาลเท่านั้น มีความสำคัญเพื่อช่วยประเมินผลการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานในระยะยาวได้ เช่น ภาวะไตเสื่อม ตาเสื่อม ระบบหลอดเลือดหัวใจและระบบปลายประสาทเสื่อม
ผู้ที่ตรวจ HbA1c ครั้งแรกเพื่อการคัดกรองเบาหวาน
ค่าปกติ ผู้ไม่เป็นเบาหวาน = น้อยกว่า 5.7 mg%
ผู้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน = 5.7 – 6.4 mg%
ผู้เป็นเบาหวาน = มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 mg%
สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานเป้าหมายการควบคุมเบาหวานที่ดี HbA1c น้อยกว่า 7 mg%
- การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง SMBG (Self Monitoring of Blood Glucose)
เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ณ เวลาที่ตรวจ ซึ่งเราสามารถตรวจได้เองเป็นประจำ มีประโยชน์คือ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานปรับการดูแลตนเองได้ทันที เช่น เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (หน้ามืด ใจสั่น เหงื่อแตก หิว) ก็จะสามารถนำเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลมาตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง และสามารถนำผลน้ำตาลที่วัดได้มาอ้างอิงในการไขการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองยังสามารถทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม
การทำ SMBG เป้าหมายการควบคุมเบาหวานที่ดี
ผู้ที่เป็นเบาหวาน น้ำตาลก่อนอาหาร = 80 – 130 mg/dL
น้ำตาล 2 ชั่วโมง หลังอาหาร น้อยกว่า 180 mg/dL
ผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน น้ำตาลก่อนอาหาร = 70 – 99 mg/dL
น้ำตาล 2 ชั่วโมง หลังอาหาร น้อยกว่า 140 mg/dL
ข้อดีของการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด
- ใช้ในการคัดกรองและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการแสดงหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน
- ใช้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือด
- ใช้ประเมินผลการรักษาและประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน
- ใช้ในการตรวจป้องกันและแก้ไขอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันทีเมื่อมีอาการระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปในผู้ป่วยเบาหวาน