ไขมันโคเลสเตอรอลหรือคอเลสเตอรอลเป็นสารประกอบที่อยู่ในร่างกายของเรา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบสุขภาพของเรา แต่เมื่อระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นมากเกินไป มันอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
ดังนั้นการเข้าใจเกี่ยวกับไขมันโคเลสเตอรอลและวิธีรักษาระดับที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพของเรา
คอเลสเตอรอลคืออะไร?
คอเลสเตอรอลเป็นสารประเภทไขมันชนิดหนึ่งที่มีลักษณะกึ่งของแข็งกึ่งของเหลวคล้ายขี้ผึ้ง ที่จริงแล้วคอเลสเตอรอลเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกายในการสร้างเซลล์ รวมถึงการผลิตวิตามิน ฮอร์โมน และสารต่างๆ ออกมาใช้ แต่เมื่อมีมากเกินไป คอเลสเตอรอลก็อาจกลายมาเป็นตัวการที่ทำร้ายสุขภาพของเราได้
คอเลสเตอรอลเกิดจากอะไร?
โดยปกติร่างกายสามารถสร้างคอเลสเตอรอลที่ต้องการใช้ได้เองจากตับ ส่วนคอเลสเตอรอลที่เหลือนั้นมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวัน โดยจะพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้น เช่น นม ไข่ และเครื่องในสัตว์ อาหารเหล่านี้ยังมีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตับยิ่งผลิตคอเลสเตอรอลออกมามากเกินความจำเป็น จนทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงตามมา
คอเลสเตอรอลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL Cholesterol) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) โดยทั้งคู่ต่างเกิดจากการรวมตัวกันของคอเลสเตอรอลกับโปรตีน กลายเป็นสารที่ชื่อว่า “ไลโพโปรตีน” เพื่อให้ไขมันหรือคอเลสเตอรอลสามารถเคลื่อนตัวไปในหลอดเลือดได้
- HDL (High-density Lipoprotein) คือคอเลสเตอรอลชนิดดีที่มีประโยชน์ เพราะจะช่วยพาคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากส่วนต่างๆ ในร่างกายกลับไปที่ตับเพื่อขจัดออกจากร่างกาย ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง นอกจากนี้ยังมีส่วนในการยับยั้งการเกิดออกซิเดชัน และการแข็งตัวของเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
- LDL (Low-density Lipoprotein) คือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เป็นคอเลสเตอรอลที่ก่อให้เกิดการการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา
คอเลสเตอรอลสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไรบ้าง?
ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)
- โรคหัวใจวาย (heart attack)
- โรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
- ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (transient ischaemic attack: TIA)
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripheral arterial disease: PAD)
วิธีลดและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด
ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ปกติในช่วงก่อนวัยหมดประจำเดือนจะมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลสูงยังสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ โดยมีวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงเมนูหวาน ๆ มัน ๆ เช่น ขนมปัง อาหารฟาสต์ฟู้ด เค้ก คุกกี้
2. ทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง ผักใบเขียว
3. รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 9 เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว
4. หลีกเลี่ยงอาหารคอเลสเตอรอลสูง เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ ปลาหมึก เนื้อสัตว์ติดไขมัน
5. ออกกำลังกาย 3 วัน/สัปดาห์ ประมาณ 20-30 นาทีต่อวัน
6. งดดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ เพราะส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอล