เบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลของอินซูลิน (Insulin) ในร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน เมื่อระบบนี้เกิดความผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือด ระบบประสาท และอาจนำไปสู่การเสียการมองเห็น มือบวม เท้าบวม หัวใจวาย
การตรวจเบาหวานคืออะไร
เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งมีการตรวจหลายประเภทที่ใช้ในการวินิจฉัยหากพบว่าค่าน้ำตาลเสี่ยงเป็นเบาหวาน แพทย์จะกำหนดแนวทางการปรับพฤติกรรมต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหาร และยาช่วยควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อป้องกันอาการที่ร้ายแรงในอนาคต หากผลตรวจพบว่าไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นเบาหวาน คุณก็ยังควรมาตรวจเบาหวานเป็นระยะอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ
ใครบ้างที่ควรตรวจเบาหวาน
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่มีสัญญาณเตือนว่าเป็นโรคเบาหวาน
- หิวน้ำบ่อย
- รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- รู้สึกหิวบ่อย หิวหลังจากกินอาหารไม่นานเห็นภาพไม่ชัด
- ปวดปัสสาวะบ่อย
- แผลหายช้ากว่าปกติ
กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ไม่มีสัญญาณเตือน แต่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง BMI มากกว่า 25 kg/m2 หรือมีรอบเอวเกินมาตรฐาน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดตีบ
- คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- ไม่ออกกำลังกาย
- ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดเกิน 4 kg
- เป็นโรคกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่
ข้อดีในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- สามารถใช้วินิจฉัย คัดกรอง ผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- สามารถใช้ประเมินการรักษา และความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
- สามารถป้องกันอันตรายต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อมีอาการระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไป
การตรวจน้ำตาลในเลือดทุก 6 เดือน สามารถติดตาม เพื่อการควบคุมโรคเบาหวานได้ ดังนั้นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือว่าเป็นอีกวิธีการทางเลือกอย่างหนึ่ง ในการป้องกันโรคเบาหวานได้