ตับ ของคนเรานั้นเป็นอวัยวะภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ใต้ชายโครงด้านขวา โดยมีซี่โครงเป็นเกราะกำบัง มีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม แบ่งเป็น 2 ส่วน เรียกว่า ตับกลีบซ้ายและตับกลีบขวา ทำหน้าที่สะสมสารอาหาร น้ำตาล เพื่อช่วยในการยังชีพและเติบโตของเซลล์ ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งมีการทำลายเชื้อแบคทีเรีย สารพิษต่าง ๆ และเปลี่ยนสภาพยาที่กินเข้าไปเพื่อให้ออกฤทธิ์ต่ออวัยวะที่ต้องการ
หน้าที่ต่าง ๆ ของตับจะอาศัยการทำงานของเซลล์ตับ ซึ่งมีหน้าที่หลากหลาย ดังนี้
- ผลิตน้ำดี ซึ่งจัดเป็นหน้าที่หลักของเซลล์ตับ
- ควบคุมเมแทบอลิซึมของสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ได้แก่
- การสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคสจากกรดอะมิโน กรดแลคติค หรือกลีเซอรอล
- การสลายโมเลกุลของไกลโคเจน เพื่อผลิตน้ำตาลกลูโคสออกสู่กระแสเลือด
- การสร้างไกลโคเจนจากน้ำตาลกลูโคส
- ควบคุมเมแทบอลิซึมของไขมัน โดยเฉพาะการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
- ผลิตสารที่เป็นปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (clotting factors)
- แปรรูปโมเลกุลของฮีโมโกลบินที่ได้จากการทำลายเม็ดเลือด แดงที่หมดอายุจากม้าม เพื่อสร้างเป็นรงควัตถุน้ำดี (bile pigments) เช่น บิลิรูบิน (bilirubin) และบิลิเวอดิน (bilivedin)
- แปรสภาพสารพิษและยาต่างๆให้อยู่ในรูปที่ร่างกายสามารถขับถ่ายออกไปได้
- เปลี่ยนแอมโมเนียที่เกิดจากการสลายโปรตีนให้เป็นยูเรีย เพื่อนำออกทางปัสสาวะ
- เก็บสะสมไวตามินและแร่ธาตุ เช่น ไวตามิน B12 เหล็ก และทองแดง
ทำไมต้องตรวจการทำงานของตับ
เนื่องจากตับมีความสำคัญมากกว่าที่เราคิด ตับอยู่บริเวณกะบังลมด้านขวา มีเส้นหลอดเลือดที่สำคัญไหลผ่าน คือ หลอดเลือดดำจากลำไส้ หลอดเลือดแดงจากหัวใจ และหลอดเลือดดำจากตับสู่หัวใจ มีหน้าที่หลากหลายในร่างกาย หากไม่ให้ความสำคัญด้วยการตรวจการทำงานของตับและเกิดความผิดปกติกับตับจะส่งผลโดยตรงกับร่างกาย โดยหน้าที่ของตับมีดังนี้
- เก็บสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ หรือวิตามินบี 12 เป็นต้น และยังเป็นอวัยวะที่เก็บสารที่สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น สารเคมีจากยารักษาโรค ก่อนที่จะนำไปกำจัดทิ้งตามขั้นตอนต่อไป
- เป็นอวัยวะที่สร้างสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน น้ำตาลกลูโคส น้ำดี รวมถึงการผลิตไขมัน
- กำจัดสารพิษในร่างกาย หรือปรับสารพิษให้กลับมาเป็นปกติ เช่น แอลกอฮอล์ ฮอร์โมน บิลิรูบิน และยาชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
ใครบ้างที่ควรตรวจการทำงานของตับ
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ชอบดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่ทานยาที่ส่งผลต่อการทำงานของตับในทางอ้อม
- มีคนในครอบครัวเป็นหรือเคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับตับควรเข้ารับการตรวจการทำงานของตับ
- ผู้ที่มีความสงสัยว่าตนเองอาจได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ผู้ที่พบว่าตนมีอาการของโรคทางตับ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ภาวะตัวเหลือง (ภาวะดีซ่าน) อ่อนแรง ท้องบวม ขาบวม เป็นต้น